วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

10 ปรากฎการณ์ประหลาด จากเหตุ "โลกร้อน!"




ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัย "โลกร้อน" ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน อาทิ อากาศร้อนขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย หรือระดับน้ำทะเลโลกสูงขึ้นเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังเป็นต้นเหตุของปรากฎการณ์แปลกๆ มากมาย ซึ่งเกี่ยวพันกับการหายสาบสูญของทะเลสาบ โรคภูมิแพ้โดยไม่ทราบสาเหตุ วิถีโคจรของดาวเทียมในอวกาศ ฯลฯ!

สารภูมิแพ้แพร่ระบาด

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้เกิดปรากฎการณ์ประหลาดขึ้นทุกๆ ช่วงฤดูใบไม้ผลิ นั่นคือ ประชาชนไอ จาม ป็นภูมิแพ้ และหอบหืดกันง่ายขึ้นและบ่อยขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปกับสภาพมลพิษในอากาศ เป็นสาเหตุสำคัญของอาการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยใหม่ๆ ชี้ให้เห็นว่า วิกฤตอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นและมีระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมากขึ้น คือต้นเหตุทำให้พืชพรรณต่างๆ ผลิใบเร็วกว่าเดิม ขณะเดียวกันปริมาณละอองเกสรที่ฟุ้งกระจายไปตามอากาศก็มากขึ้นเช่นกัน คนที่เป็นภูมิแพ้หรือหอบหืดเมื่อสูดละอองเหล่านี้เข้าไปมากๆ อาการจึงกำเริบง่าย

สัตว์อพยพไร้ที่อยู่

ผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน ทำให้สัตว์บางชนิด เช่น กระรอก ตัวชิปมังก์ หรือแม้กระทั่งหนู ต้องอพยพหนีขึ้นไปอยู่บนที่สูงขึ้น

สัตว์ที่กำลังเผชิญปัญหาใหญ่ ได้แก่ "หมีขั้วโลก" ที่ในอนาคตอาจมีชีวิตอยู่ในถิ่นฐานเดิมแถบอาร์กติก ขั้วโลกเหนือไม่ได้ เนื่องจากธารน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว

"พืช" ขั้วโลกคืนชีพ

ช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ผลจากภาวะน้ำแข็งขั้วโลกละลายเพราะโลกร้อน ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของพืชและสัตว์จำนวนมาก ตามปกติ พืชแถบอาร์กติกจะถูกปกคลุมอยู่ในน้ำแข็งตลอดทั้งปี

แต่ปัจจุบัน เมื่อน้ำแข็งละลายมากขึ้นเรื่อย โดยเฉพาะในช่วงก่อนฤดูใบไม้ผลิต จึงทำให้พืชที่เคยถูกห่อหุ้มด้วยน้ำแข็งกลายเป็นอิสระ สามารถเริ่มกระบวนการสังเคราะห์แสงและกลับมาเติบโตขึ้นอีกครั้ง กลายเป็นอีก 1 ปรากฎการณ์ใหม่ของพื้นที่ขั้วโลกเหนือ

ทะเลสาบหายสาบสูญ

เรื่องประหลาดๆ ที่เกิดขึ้นในเขตอาร์กติก หรือ ขั้วโลกเหนือยังไม่หมดแค่นั้น มีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา "ทะเลสาบ" ประมาณ 125 แห่งได้หายสาบสูญไปจากเขตอาร์กติก เป็นสัญญาณหนึ่งที่ช่วยให้เห็นว่า ภัยโลกร้อนส่งผลกระทบเร็วมากต่อสภาพแวดล้อมแถบขั้วโลก

สาเหตุที่ทะเลสาบหายไปก็เพราะ "เพอร์มาฟรอส" ที่เป็นน้ำแข็งแข็งตัวอยู่ใต้พื้นทะเลสาบนั้นละลายหมดสิ้นไป ดังนั้น น้ำในทะเลสาบจึงซึมเข้าสู่พื้นดินข้างใต้ได้ เหมือนกับเวลาเราดึงจุกปิดน้ำออกจากอ่างอาบน้ำแล้วน้ำจึงไหลหมดไปจากอ่างนั่นเอง นอกจากนี้ การที่ทะเลสาบขั้วโลกหายวับไป ยังส่งผลลูกโซ่ปั่นป่วนไปถึงระบบนิเวศในพื้นที่ที่พึ่งพิงน้ำจากทะเลสาบอีกด้วย
น้ำแข็งใต้พื้นโลกละลาย ภาวะโลกร้อนไม่ได้เพียงแค่ทำให้ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ชั้นน้ำแข็งถาวรที่มีอยู่ใต้พื้นผิวโลกค่อยๆ ละลายลดปริมาณลงไปเช่นกัน
ผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นตามมาในอนาคตก็คือ จุดใต้พื้นโลก ซึ่งเคยเป็นน้ำแข็งหายไปจนเกิดเป็น "รูรั่ว" ใต้ดินขึ้นมา เมื่อเป็นเช่นนี้สภาพทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่ย่อมเปลี่ยนไป
สิ่งปลูกสร้าง หรือ สิ่งก่อสร้างของมนุษย์ เช่น ทางรถไฟ ถนน บ้านเรือน ฯลฯ ซึ่งตั้งอยู่เหนือจุดดังกล่าวมีโอกาสได้รับความเสียหายตามไปด้วย ถ้าปรากฎการณ์น้ำแข็งละลายเกิดขึ้นบนที่สูง เช่น ภูเขา จะก่อให้เกิดภัยธรรมชาติตามมา อาทิ หินถล่มและโคลนถล่ม เป็นต้น
ชนวนเกิดไฟป่า นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยืนยันตรงกันทั่วโลก ว่าภัยโลกร้อนเป็นสาเหตุให้ธารน้ำแข็งละลายและพายุก่อตัวบ่อยและรุนแรงขึ้นกว่าในอดีต ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะโลกร้อนยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิด "ไฟป่า" ได้ง่ายขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
และชาติเมืองหนาวในซีกโลกตะวันตก ซึ่งตามปกติไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องไฟป่า ก็เริ่มรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงนี้กันแล้ว เหตุเพราะสภาพป่าแห้งกว่าเดิม จึงเป็นเชื้อไฟอย่างดี
ผู้แข็งแกร่งเท่านั้นถึงอยู่รอด
โลกร้อนส่งผลให้หน้าหนาวหดสั้นลง และหน้าร้อนมาถึงเร็วขึ้น บรรดา "นกอพยพ" หลายสายพันธุ์ต่างมึนงง ปรับ "นาฬิกาชีวภาพ" ในตัวของมันให้เข้ากับสภาพความผันแปรของฤดูกาลที่บิดเบี้ยวไปไม่ทัน สัตว์ที่จะเอาชีวิตรอดจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนในทุกวันนี้ได้ต้องเป็นสายพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้น
ในที่สุดสัตว์ที่อยู่รอดจะต้อง "กลายพันธุ์" หรือปรับพันธุกรรมในตัวมันเสียใหม่ เพื่อรับมือภัยโลกร้อนให้ได้ และมีสัตว์หลายชนิดกำลังวิวัฒนาการตัวเองเช่นนั้นอยู่
ดาวเทียมโคจรเร็วกว่าเดิม การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหิน ยวดยานพาหนะ ฯลฯ คือ ตัวการสำคัญของวิกฤตโลกร้อน
ล่าสุดพบว่า เจ้าก๊าซตัวเดียวกันนี้เองที่ขึ้นไปสะสมมากขึ้นในชั้นบรรยากาศโลก ได้กลายเป็นต้นเหตุทำให้ "ดาวเทียม" ที่อยู่ในวงโคจรโลกเคลื่อนที่เร็วกว่าเดิม
ตามปกติ อากาศในบรรยากาศชั้นนอกสุดของโลกจะเบาบาง แต่โมเลกุลของอากาศจะยังคงมีแรงดึงดูดมากพอในการทำให้ดาวเทียมโคจรช้าๆ ดังนั้น เราอาจเคยได้ยินข่าวกันมาบ้างว่า ผู้ควบคุมต้องจึดระเบิดดาวเทียมเป็นระยะๆ เพื่อให้ดาวเทียมโคจรต่อไปอย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม เมื่อคาร์บอนไดออกไซด์ลอยไปสะสมในบรรยากาศชั้นล่างมากไป จะทำแรงดึงดูดของบรรยากาศชั้นนอกสุดลดกำลังลง ดาวเทียมจึงโคจรเร็วกว่าปกติ
ภูเขากระเด้งตัวเหนือพื้นโลก ภูเขาและเทือกเขาสูงหลายแห่งทั่วโลกกำลังขยายตัว "สูง" ขึ้น เพราะผลจากโลกร้อน! นั่นเป็นเพราะ ตามธรรมชาติที่ผ่านๆ มานับพันปี ยอดภูเขาในเขตหนาวเย็นโดยทั่วไปจะมี "น้ำแข็ง" ปกคลุมอยู่ ทำหน้าที่เป็นเหมือนกับตุ้มน้ำหนักที่คอยกดทับให้ฐานล่างของภูเขาทรุดต่ำลงไปใต้พื้นผิว เมื่อน้ำแข็งบนยอดเขามลายสูญสิ้นไป ส่วนฐานล่างที่เคยถูกกดจมดินลงไปจะค่อยๆ กระเด้งคืนตัวกลับมาเหนือผิวโลกอีกครั้ง โบราณสถานเสียหาย
โบราณสถาน เมืองเก่าแก่ ซากปรักหักพังทางประวัติศาสตร์ ฯลฯ อันเป็นสิ่งแสดงถึงวัฒนธรรมอันรุ่งเรื่องของมนุษย์ในอดีตได้รับผลกระทบจากโลกร้อน
เหตุเพราะโลกร้อนทำให้อากาศทั่วโลกแปรปรวน ทั้งเกิดพายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง และล้วนแต่ยิ่งสร้างความเสียหายให้กับมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมอยู่แล้ว
โบราณสถานอายุ 600 ปีในจังหวัดสุโขทัยของประเทศไทยเรา ก็เคยเสียหายอย่างหนักเพราะภัยน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งเป็นผลจากภัยโลกร้อน มาแล้วเช่นกัน


'มะกัน'ชี้ลดคาร์บอนฯโลกไม่หายร้อน ก๊าซค้างในอากาศนับพันปี


สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง หรือที่มักนิยมเรียกกันว่า โลกร้อน นั้นเกิดจากการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์และมีเทนขึ้นไปบนชั้นบรรยา กาศในปริมาณมากทำให้เกิดเป็นม่านควันที่กักความร้อนในโลกไว้ไม่ให้ระบายออกไป เทรนด์การลดก๊าซโลกร้อนนี้จึงมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ทว่า การวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พบว่า ต่อให้ทั้งโลกหยุดปล่อยก๊าซเหล่านี้ทันที โลกก็จะยังคงร้อนต่อไป เนื่องด้วยก๊าซเหล่านี้จะยังคงอยู่ในชั้นบรรยากาศไปอีกนานหลายพันปี

นายไคล์ อาร์เมอร์ นักศึกษาปริญญาเอก หนึ่งในคณะวิจัยดังกล่าว ระบุว่า อุณหภูมิทั่วโลกนั้นจะยังคงสูงต่อไป โดยค่าเฉลี่ยจะสูงกว่าสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมยุโรปในศตวรรษที่ 19 โดยตอนนี้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงกว่าสมัยดังกล่าวถึง 0.8 องศาเซลเซียส รวมทั้งเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.9 องศาเซลเซียสด้วย ต่อให้โลกทั้งใบหยุดปลดปล่อยก๊าซโลกร้อนทั้งหมดในทันที

ทั้งนี้ สาเหตุมาจากสารแอโรซอล คือละอองอนุภาคพิเศษที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านปรากฏการณ์เรือนกระจกด้วยการสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไปไม่ให้แผดเผาเข้ายังผืนโลกมากเกินไปนั้นจะสูญสลายไปภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หากเลิกปล่อยก๊าซโลกร้อนแบบทันที คงเหลือเพียงแต่ก๊าซโลกร้อนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ

"แอโรซอลจะถูกชะล้างออกไปอย่างรวดเร็ว และพวกเราจะได้เห็นอุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นอย่างท่วมท้นภายในเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ" นายอาร์เมอร์กล่าว

นายอาร์เมอร์ ระบุว่า หากมนุษย์สามารถยับยั้งวิกฤต การณ์โลกร้อนนี้ได้ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนั้นจะเหลือเพียง 0.27 องศาเซลเซียส แต่ก็ยังจะมากกว่ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรมยุโรป และไม่มีวันที่จะกลับไปเหมือนเดิมได้ โดยคณะ นักวิจัยยืนยันถึงความถูกต้องของผลการศึกษาดังกล่าว แม้การตั้งสมมติฐานให้ทั่วโลกหยุดการปล่อยก๊าซโลกร้อนทั้งหมดในทันทีนั้นตามความเป็นจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทว่า ความเป็นไปได้กับสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นคนละเรื่องกัน

"ผลการศึกษานี้ไม่ได้บอกว่า ต้องปล่อยก๊าซโลกร้อนเพื่อรักษาสารแอโรซอลไว้ แต่บอกให้เรารู้ว่า เราควรจะเลิกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างฉลาดก็เท่านั้น" นายอาร์เมอร์ กล่าว


ทำไมเดือนกุมภาพันธ์ถึงมี 28 และ 29 วัน ??


คำว่ากุมภาพันธ์นั้น ในภาษาอังกฤษมีชื่อว่า February ซึ่งเป็นชื่อเทพเจ้าองค์หนึ่งของชาวอิตาเลียนโบราณครับ เล่ากันว่าเทพเจ้าองค์นี้มีพระนามว่า “Februus” หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “Februa” เทพองค์นี้เป็นตัวแห่งความตายและความบริสุทธิ์ ว่ากันว่าเทพองค์นี้ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลองด้วยจึงไม่แปลกใจเลยที่เดือนนี้จะเป็นเดือนที่มีการจัดเทศการเฉลิมฉลองกรุงโรม แล้วก็แต่เดิมนั้นปฏิทินโรมันจะมีเพียงแค่ 10 เดือน (304 วัน) โดยจะนับเอาเดือนมีนาคมเป็นเริ่มต้นปีใหม่ใน 10 เดือนที่ว่านี้ได้แก่เดือน Martius, Aprilis, Maius, Junius, Quintilis, Sextilis, September, October, November และ December ปฏิทินนี้เป็นที่รู้จักและใช้ต่อกันเรื่อยมาจนถึงประมาณ 738 ปีก่อนคริสตกาลจากนั้นเดือน January และ February ก็ได้ถูกทำการเพิ่มขึ้นโดยกษัตริย์โรมันนามว่า Numa เพื่อให้จำนวนวันที่หายไปนั้นได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ตรงนี้เองที่ทำให้เดือน October กระเด็นไปอยู่เดือนที่สิบ (อันที่จริงแล้ว Oct แปลว่าแปด)ต่อมาก็คือเรื่องของปฏิทินจูเลียตที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ได้ถูกสร้างขึ้น โดย Julius Caesar ซึ่งเป็นผู้นำคนใหม่ของโรมัน ผู้นำโรมันคนนี้ได้เล็งเห็นถึงความผิดปกติและความไม่ถูกต้องของปฏิทินจึงได้ ทำการสั่งให้เลิกทำการคำนวณเดือนจากการนับดวงจันทร์เหมือนที่เคยใช้กันมา แต่เดิมนั้นใช้ระบบดวงจันทร์ คืออาศัยข้างขึ้น ข้างแรมสังเกตความเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์ พอหมดข้างแรมทีนึงก็นับเป็นหนึ่งเดือนพร้อมกับได้เปลี่ยนไปใช้วันที่ 1 ของเดือน January เป็นวันแรกของปี อีกทั้งผู้นำโรมันคนนี้ยังได้ทำการเปลี่ยนชื่อเดือน Quintilis เป็น July ซึ่งมาจากคำว่า Julius Caesar เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ตัวเอง และนอกจากนี้ปฏิทินจูเลียตยังได้กำหนดเอาไว้อีกว่าให้เดือนคี่มี 31 วัน เดือนคู่มี 30 วัน ยกเว้นเดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันในปีปกติสุรทิน และมี 30 วันในปีอธิกสุรทิน (คำว่า ปีปกติสุนทิน หมายความว่าเป็นปีปฏิทินที่มีจำนวนวัน 365 วัน และ ปีอธิกสุรทิน หมายความว่าเป็นปีปฏิทินที่มีจำนวนวัน 366 วัน)ต่อมาในยุคสมัยของกษัตริย์ Augustus Caesar ไม่พอใจที่เดือนเกิดของตนเองซึ่งเป็นเดือน 8 เป็นเดือนคู่แต่มีเพียงแค่ 30 วัน จึงได้ทำการดึงวันออกจากเดือน February ออกมา 1 วัน แล้วนำมาใส่ในเดือนเกิดของตนเอง และได้ทำการเปลี่ยนชื่อเดือนเกิดของตนเองเจาก Sextilis เป็น August จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเดือน August ถึงมี 31 วัน และทำไมเดือน February จึงเหลือ 28 หรือ 29 วันนั่นเองประเทศไทยของเรานั้นเริ่มใช้ชื่อเดือนกุมภาพันธ์ในปี พ.ศ. 2532 ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 5 โดนที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เป็นผู้เสนอให้ใช้จักรราศีเป็นตัวกำหนดชื่อเดือน

เดือนทั้ง 12 นั้นจะประกอบไปด้วย
January 31 วัน
February 28 วัน
March 31 วัน
April 30 วัน
May 31 วัน
June 30 วัน
July 31 วัน
August 31 วัน
September 30 วัน
October 31 วัน
November 30 วัน
December 31 วัน
รวม 12 เดือน 365 วัน ระยะเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบนั้นเท่ากับ 365.24224 วัน ครับ ถ้า
ในปีไหนที่เดือน February มี 28 วันแล้วล่ะก็ ปีนั้นจะมีจำนวนวัน 365 วัน ซึ่งจะขาดไป 0.24224 วัน
ในปีไหนที่เดือน February มี 29 วันแล้วล่ะก็ ปีนั้นจะมีจำนวนวัน 366 วัน ซึ่งจะเกินไป 0.24224 วัน
ดังนั้นเพื่อที่จะให้ง่ายต่อการเพิ่มหรือว่าลดระยะเวลาที่ขาดหายหรือมากเกิน ไปนั้น จึงได้มีการกำหนดให้ปีที่มี 365 วัน ซึ่งจะขาดไป 0.24224 วัน นำไปทดไว้จนครบ 4 ปีก็จะได้วันเพิ่มมาอีก 1 วันนั่นเองครับ ส่วนการคำนวณหาว่าปีไหนจะเป็นปีที่มีเดือน February 29 วัน ก็ให้นำปี ค.ศ. มาตั้งแล้วหารด้วย 4 ถ้าเกิดว่าหารลงตัวไม่มีเศษแล้วล่ะก็ปีนั้นจะเป็นปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29วัน

วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นักวิจัยสหรัฐพบโปรตีนใหม่ในเซลล์ มีฤทธิ์ต่อสู้เชื้อไวรัสไข้หวัด



วารสารเซลล์ เผยว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พบโปรตีนต่อต้านไวรัสภายในเซลล์ ซึ่งมีคุณสมบัติต่อสู้กับการติดเชื้อไวรัสไข้หวัด พุ่งเป้าพัฒนาเจาะลึกหวังใช้เป็นแนวทางคิดค้นวัคซีนรับมือไข้หวัดให้ดีขึ้นในอนาคต

ผลวิจัยของม.การแพทย์ฮาร์วาร์ด ค้นพบกลุ่มของยีน หรือพันธุกรรมที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนทหารคุ้มกันเซลล์จากไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยยีนกลุ่มนี้สามารถต่อสู้กับไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ทุกเวลา

นักวิจัยใช้เทคนิคการวิจัยใหม่เรียกว่า "อาร์เอ็นเอ" ในการทดลอง ซึ่งเทคนิคนี้จะปิดการทำงานของยีนเป็นรายตัว แล้วจึงนำเซลล์ใส่เข้าไปในไวรัสไข้หวัดใหญ่ ผลที่ได้คือ จะเห็นโปรตีนที่มีฤทธิ์ต่อสู้ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการติดเชื้อไวรัสตามธรรมชาติ และถ้ากำจัดโปรตีนนี้ออกไป ไวรัสไข้หวัดใหญ่จะสามารถแบ่งตัว หรือเพิ่มจำนวนตัวเองได้เร็วขึ้นกว่าเดิม 5-10 เท่า

"ดังนั้น ถ้าสามารถกระตุ้นให้เซลล์ผลิตโปรตีนชนิดนี้ก็จะทำให้ร่างกายมีประสิทธิภาพในการต่อต้านไข้หวัดใหญ่มากขึ้น และพบด้วยว่าโปรตีนในตระกูล "IFITM3" สามารถป้อง กันไวรัสได้หลายชนิด เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ ซึ่งพบในไข้หวัดตามฤดูกาล ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้เลือดออก แต่โปรตีนนี้ป้องกันไวรัสเอชไอวี หรือไวรัสโรคตับอักเสบไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การทดสอบในห้องทดลองพบว่า อาจจะป้องกันไวรัสชนิดอื่น เช่น ไวรัสไข้เหลือง" นักวิจัย ระบุ

ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยกล่าวด้วยว่า ถ้าหากไวรัสเล็ดลอดแนวป้องกันชั้นแรกของโปรตีน และเข้าไปถึงในเซลล์ได้จะมีสัญญาณเตือนภัยไปยังส่วนอื่นของร่างกายให้ผลิตโปรตีนต่อต้านไวรัสมากขึ้นเพื่อรับมือ

"ฮาร์โมนี่เอ็กซ์เพรส" รถไฟจีนเร็วสุดในโลก



รัฐบาลคอมมิวนิสต์ "จีนแดง" ประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ให้ประชาคมโลกประจักษ์อีกครั้ง

หลังจากช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ถือฤกษ์เปิดให้บริการ "บุลเล็ตเทรน" หรือ "รถไฟหัวกระสุน" สายฮาร์โมนี่เอ็กซ์เพรส (หนึ่งเดียว/สามัคคี) เป็นที่เรียบร้อย

โดยวิ่งรับส่งผู้โดยสารไป-กลับระหว่างสองเขตเศรษฐกิจสำคัญ

นั่นคือ นครกวางโจว กับ นครอู่ฮั่น รวมระยะทาง 1,100 กิโลเมตร (วิ่งวันละ 56 รอบ)

พร้อมกับครองสถิติ เป็นรถไฟหัวกระสุนแล่นทางไกล ซึ่งทำความเร็วสูงสุดในโลก

สูงถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ขณะที่ความเร็วสูงสุดแท้จริงสมัยทดสอบวิ่ง อยู่ที่ 394 กิโลเมตรต่อชั่วโมง!

โค่นแชมป์เก่าอย่าง "เตเจเว" ของฝรั่งเศส และ "ชินคันเซ็น" ของญี่ปุ่น ที่เคยทำความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขาดกระจุย

ด้วยความเร็วปานสายฟ้าแล่บ ทำให้การเดินทางพันกว่ากิโลฯ จากกวางโจวไปอู่ฮั่น ใช้เวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง!

บรรดา "เครื่องบินโดยสาร" ภายในประเทศของจีน จึงต้องงัดกลยุทธ "ดั๊มพ์" หรือรถราคาค่าตั๋วลงมาโดยด่วน

สำหรับมูลค่าโครงการฮาร์โมนี่เอ็กซ์เพรส แบ่งค่าใช้จ่ายหลัก 2 ส่วน ส่วนแรก รัฐบาลกลาง เทลงไปเฉียด 6 แสนล้านบาท ฝ่ายทางการอู่ฮั่น รับผิดชอบค่าก่อสร้างสถานีและรางบางส่วนร่วมๆ 8 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สนนราคา "ค่าตั๋ว" ถ้ามองจากมุมชาวบ้าน-ผู้ใช้แรงงานจีนยังถือว่า "แพง" เนื่องจากในเบื้องต้นมีแค่ 2 ราคา คือ ชั้นหนึ่ง 3,810 บาท/ชั้นสอง 2,400 บาท เมื่อมองจากราคาเท่ากับว่า คนจะขึ้นฮาร์โมนี่เอ็กซ์เพรสได้ต้องเป็น "จีนชนชั้นกลาง-บน" แต่คาดว่ารัฐบาลจีนยังไม่ห่วงประเด็นนี้มากนัก เพราะคงต้องการแสดงให้โลกเห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขนส่งของตนว่าล้ำหน้าโลกตะวันตกไปหลายช่วงตัว

ขนาด "อวกาศ" คนจีนยังไปลุยมาแล้ว..นับประสาอะไรกับแค่สร้างสุดยอดรถไฟบนพื้นโลก!

อัลมอนด์สุดยอด ผู้พิทักษ์หัวใจ



การกินอัลมอนด์ในปริมาณวันละ 1 หยิบมือ จะเป็นผลดีต่อสุขภาพและหัวใจของเราเป็นอย่างมาก เพราะภายในอัลมอนด์มีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายของเรามากมาย ทั้งกรดไขมันอิ่มตัวเชิงเดี่ยว และเชิงซ้อน ที่สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่อัลมอนด์มักจะถูกเรียกว่า “ผู้พิทักษ์หัวใจ”

นอกจากนี้อัลมอนด์ยังมีไฟเบอร์ โปรตีน วิตามินบี วิตามินอี และโอเมก้า3 อีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอของผิวหนัง และเส้นผมให้กลับมาแข็งแรงเหมือนเก่า แถมการกินถั่วชนิดนี้ยังช่วยเรื่องความสวยความงามได้อีกด้วย เพราะมันจะเข้าไปช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยต่างๆ ได้ อ๊ะๆ ยังไม่หมดนะจ๊ะ มันยังสามารถลดการเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และช่วยลดโคเลสเตอรอลได้ด้วย